Home |  Login  
       
 
หน้าหลัก > ภาพกิจกรรม  
พริกดับเบิลแฮพลอยด์ทั้ง 11 สายพันธุ์
สถานที่ : ณ คณะเกษตร กำแพงแสน
จัดเมื่อวันที่ : 23-03-2561เวลา : 00.00 น. ประกาศโดย : สุนารี สว่างศรี  
 
พริกดับเบิลแฮพลอยด์ทั้ง 11 สายพันธุ์

คณะผู้วิจัย
1. ดร.อัญชลี รวีโรจน์วิบูลย์ นักวิจัยชำนาญการพิเศษ
สังกัด ศูนย์ปฏิบัติการวิจัยและเรือนปลูกพืชทดลอง ศูนย์วิจัยและบริการวิชาการ คณะเกษตร กำแพงแสน
2. รศ.ดร.จุลภาค คุ้นวงศ์
สังกัด ศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร กำแพงแสน

ประวัติ/ที่มา
พริกดับเบิลแฮพลอยด์ทั้ง 11 สายพันธุ์ ที่ได้รับหนังสือรับรองการขึ้นทะเบียนพันธุ์ จากกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 23 มีนาคม 2561 เป็นพริกที่มีลักษณะที่ดีทางการเกษตรและได้ผ่านการคัดเลือกในแปลงปลูกจากนักปรับปรุงพันธุ์พืช ซึ่งพริกดับเบิลแพลอยด์นี้เป็นส่วนหนึ่งจากผลการดำเนินงานวิจัยเรื่อง การสร้างสายพันธุ์ดับเบิลแฮพลอยด์ของพริก จากการสนับสนุนทุนวิจัยของสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ และโครงการวิจัย เรื่องการศึกษาลักษณะทางสัณฐานวิทยาและลักษณะสำคัญทางการเกษตรของพริกประชากรดับเบิลแฮพลอยด์เพื่อการพัฒนาสายพันธุ์ จากการสนับสนุนทุนวิจัย โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านเทคโนโลยีชีวภาพเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม งานวิจัยได้เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2553 - ปัจจุบัน (ตั้งแต่เริ่มดำเนินการศึกษาวิจัยเพื่อสร้างสายพันธุ์พริก) ซึ่งพริกทั้ง 11 สายพันธุ์นี้มีการพัฒนาสายพันธุ์มาจากการเพาะเลี้ยงอับละอองเรณู (anther culture) ของพริกลูกผสมชั่วที่ 1{F1 (CA500XCA2106)} ระหว่างพริกสายพันธุ์ CA500 (ลักษณะผลคล้ายพริกหยวก) เป็นพันธุ์แม่ กับพริกสายพันธุ์ CA2106 เป็นพันธุ์พ่อซึ่งมีคุณสมบัติเด่นคือต้านทานต่อโรคใบด่างแตงที่มีสาเหตุจากเชื้อ CMV (Cucumber Mosaic Virus) ที่ผ่านการประเมินความต้านทานโรคโดย ดร. สุจินต์ ภัทรภูวดล ภาควิชาโรคพืช คณะเกษตร กำแพงแสน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน ซึ่งพริกทั้งสองพันธุ์นี้ได้รับความอนุเคราะห์เมล็ดพันธุ์จากศูนย์วิจัยและพัฒนาพืชผักเขตร้อน มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน จังหวัดนครปฐม จากนั้น จึงนำพริกลูกผสมชั่วที่ 1 {F1 (CA500XCA2106)} มาเพาะเมล็ดและออกปลูกในเรือนปลูกพืชทดลองเพื่อเก็บอับละอองเรณู มาเพาะเลี้ยงในสภาพปลอดเชื้อและชักนำให้เกิดต้นในสภาวะที่เหมาะสม ต้นพริกที่เกิดขึ้นได้ผ่านการตรวจสอบความเป็นสายพันธุ์แท้ด้วยเทคนิคโมเลกุลเครื่องหมาย และตรวจจำนวนชุดโครโมโซมด้วยเครื่องโฟลไซโตมิเตอร์ (Flow cytometer) เพื่อคัดแยกระหว่างต้นพริกแฮพลอยด์ (โครโมโซม 1 ชุด) กับพริกดับเบิลแฮพลอยด์ ซึ่งประชากรพริกดับเบิลแฮพลอยด์ที่ผลิตได้นี้เกิดจากการเพิ่มจำนวนชุดโครโมโซมได้เองตามธรรมชาติ (spontaneous chromosome doubling) ภายใต้สภาวะการเพาะเลี้ยงที่เหมาะสมซึ่งพริกประชากรดับเบิลแฮพลอยด์นี้ได้นำออกปลูกในสภาพแปลงทดลองเพื่อศึกษาและเก็บข้อมูลลักษณะทางการเกษตรจำนวน 2 ครั้ง และได้มีการออกปลูกเพื่อให้นักปรับปรุงพันธุ์พืชจากภาครัฐและบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์พืชร่วมคัดเลือกสายพันธุ์ที่มีลักษณะทางการเกษตรดีและเป็นที่สนใจของผู้คัดเลือกด้วย เพื่อนำข้อมูลเหล่านี้มาประกอบกันในการคัดเลือกสายพันธุ์พริกเพื่อใช้ในงานปรับปรุงพันธุ์ต่อไป เนื่องจากพริกดับเบิลแฮพลอยด์เป็นสายพันธุ์แท้จึงไม่จำเป็นต้องผสมและคัดเลือกต้นที่มีความนิ่งของยีนอีก จึงสามารถนำพันธุ์ไปใช้ประโยชน์ได้โดยตรง
ประมวลภาพ
 
 
 
ภาพกิจกรรมคณะเกษตร กำแพงแสน
 
ภาพกิจกรรม
- ด้านการบริหารพัฒนาบุคลากร
- ด้านการประกันคุณภาพ
- ด้านการศึกษาและนิสิต
- ด้านทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม
- ด้านบริการวิชาการแก่สังคม
- ด้านบริหารจัดการ
- ด้านวิจัย/บริการวิชาการ
- ด้านวิเทศสัมพันธ์
- ผลงาน/บุคคลสร้างชื่อเสียง
- อื่นๆ
วีดีทัศน์กิจกรรม
 
 
   
พัฒนาระบบโดย : น.ส.ดวงกมล ด้วงจุมพล หน่วยผลิตสื่อและเทคโนโลยีสารสนเทศ คณะเกษตร กำแพงแสน
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน อ.กำแพงแสน จ.นครปฐม 73140